บทลงโทษการปลอมแปลงเอกสารอันเป็นเท็จเพื่อประกอบคำขอกู้เงินกับสหกรณ์
สวัสดีครับ สาระน่ารู้วันนี้ เราจะพูดถึง เรื่องการการปลอมแปลงเอกสาร ซึ่งในปัจจุบันได้มีเทคโนโลยีต่างๆที่ทันสมัย ใช้งานง่ายทั้งจากคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ ที่สามารถจะปลอมแปลงเอกสาร ได้อย่างแนบเนียนและรวดเร็ว จนทำให้กลุ่มมิจฉาชีพนำไปใช้ในการก่ออาชญากรรมได้อย่างง่ายดาย เช่น การปลอมเอกสารราชการเพื่อไปหลอกลวงผู้อื่น การปลอมเอกสารทางการเงิน
กฎหมายน่ารู้เกี่ยวกับ การปลอมแปลงเอกสาร
ซึ่งการกระทำดังกล่าวล้วนเป็นความผิดตามกฎหมายทั้งสิ้น โดยจะมีโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา ที่มีโทษทั้งจำคุก สูงสุดถึง 10 ปี หรือ ปรับสูงสุดถึง 200,000 บาท แล้วแต่ความผิดแต่ละกรณี ดังนี้
1. มาตรา 264 ปลอมเอกสารทั่วไป โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. มาตรา 265 ปลอมเอกสารสิทธิหรือเอกสารราชการ โทษจำคุก 6 เดือน ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 - 100,000 บาท
3. มาตรา 266 ปลอมเอกสารสำคัญ เอกสารสิทธิที่เป็นเอกสารราชการ พินัยกรรม ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ใบสำคัญของใบหุ้นหรือใบหุ้นกู้ ตั๋วเงิน หรือบัตรเงินฝาก โทษจำคุกตั้งแต่ 1 -10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท
4. มาตรา 267 แจ้งให้เจ้าพนักงานของรัฐ จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ ด้วยวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
5. มาตรา 268 ใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือมาตรา 267 ให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ
6. มาตรา 269 ปลอมเอกสารในการประกอบกิจการในวิชาแพทย์ กฎหมาย บัญชีหรือวิชาชีพอื่นใด ด้วยคำรับรองบนเอกสารอันเป็นเท็จ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
7. มาตรา 341 ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
บทลงโทษการปลอมแปลงเอกสารอันเป็นเท็จเพื่อประกอบคำขอกู้เงินกับสหกรณ์
เช่น ปลอมแปลงสลิปเงินเดือน ปลอมแปลงลายมือผู้ค้ำประกัน หรือกระบวนการทำ ใช้ หรือ แปลงเอกสารใด ๆ เพื่อการหลอกลวงสำหรับยื่นเอกสารเงินกู้กับสหกรณ์ ซึ่งตามระเบียบและข้อบังคับของสหกรณ์ออมทรัพย์กรมป่าไม้ จำกัด ของเราก็มีการกำหนดบทลงโทษต่าง ๆ ไว้เช่นกัน ดังนี้
1. ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เป็นร้อยละ 15 ต่อปี เป็นระยะเวลาตามที่คณะอนุกรรมการเงินกู้กำหนด
2. ระงับสิทธิ์การกู้เงินทุกประเภท เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน ไม่เกิน 2 ปี เงินกู้สามัญทุกประเภทและเงินกู้พิเศษ ไม่เกิน 5 ปี
3. ถูกเรียกคืนเงินกู้ทั้งหมด หรือถูกหักเงินกู้ส่วนที่เกินกว่าร้อยละ 95 ของทุนเรือนหุ้น ภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการเห็นสมควร
4. หรืออาจถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย
Infographic